Skip links
how-marketer-should-do-in-a-cookieless-world

การจากไปของ Cookies วิกฤตครั้งใหญ่ หรือ โอกาสครั้งใหม่ ของนักการตลาดออนไลน์

how-marketer-should-do-in-a-cookieless-world

ท่านผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินเรื่อง การหายไปของ Cookies หรือ Cookieless World มาบ้างใช่ไหมครับ และ ถ้าเคยได้ยินมาผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า 80% ของเนื้อหาเหล่านั้น น่าจะเป็นผลกระทบในเชิงลบ ในมุมมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ข้อมูลการโฆษณาหรือพฤติกรรมของลูกค้า หรือ ผลกระทบในการทำโฆษณาออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Google Ads หรือ Facebook Ads ที่จะมีประสิทธิภาพแย่ลงเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นบทความนี้ ผมจะมาไขข้อสงสัยเองครับว่า ผลกระทบมันรุนแรงแค่ไหน แล้วในฐานะนักการตลาดเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างไรดี

เลือกอ่านตามหัวข้อ

Cookies คืออะไร ?

Cookies มีกี่ประเภท ? แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร ?

First-Party Cookies คืออะไร ?

แล้ว Third-Party Cookies ล่ะ คืออะไร?

อนาคตของ Cookies จะเป็นอย่างไร ?

5 เทคนิค เติบโตท่ามกลางวิกฤต Cookieless ?

สรุป

Cookies คืออะไร ?

สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินคำว่า Cookies ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆที่สุดก็ Cookies ก็เหมือน “บัตรสมาชิกฟิตเนส” คือเวลาที่เราไปฟิตเนสครั้งแรกเนี่ย ก็จะมีขั้นตอนมากมายกว่าที่เราจะได้เริ่มไปใช้เครื่องเล่นใช่ไหมละครับ ไม่ว่าจะเป็น กรอกข้อมูล ชำระเงิน พนักงานก็จะมาพาเราเดินทัวร์ฟิตเนส แนะนำห้องอาบน้ำ ขั้นตอนมากมายกว่าจะได้ไปถึงเครื่องออกกำลังกายที่เราหวังไว้เนี่ยก็คงจะเสียเวลาเป็น 10 นาที และ ครั้งหน้าพอเราเข้ามาฟิตเนสใหม่อีกรอบเราก็จะต้องผ่านขั้นตอนมากมายที่ผมบอกไป เสียเวลา 10 นาทีอันมีค่าของเราไปอีกรอบ (ทั้งๆที่มาออกกำลังกาย 20 นาทีก็หมดแรงแล้วเนี่ย)  แต่ถ้าเรามีบัตรสมาชิกฟิตเนสแล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปผ่านกระบวนการขั้นตอนเหล่านั้นอีกแล้ว เราแค่แตะบัตรฟิตเนส 1 ที เราก็สามารถทะลุไปใช้เครื่องออกกำลังกายที่เราต้องการได้เลย (เย้! ได้เล่นฟิตเนส 30 นาทีแล้ว) กลับมาในบริบทของ Cookies และ เว็บไซต์ พอเว็บไซต์ได้มีการจดจำตัวตนของเราและพฤติกรรมของเราไปแล้วหลังจากที่เราเข้าไปใช้บริการครั้งแรก เว็บไซต์ก็จะสามารถเลือกข้อมูลที่เหมาะสมกับเรามาแสดงได้ หรือ ถ้าเราเคยกดของใส่ตะกร้าไว้ในเว็บไซต์นี้ เมื่อกลับมาครั้งหน้าเราก็สามารถกลับเข้ามาชำระเงินได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปไล่หา ไล่เลือกสินค้าใหม่อีกรอบนึง หรือ เช่นเดียวกันกับการ Login เข้าระบบสมาชิกของเว็บบอร์ดต่างๆ ถ้าเราเคย Login ไว้แล้วระบบมีการเก็บ Cookies ของเราไว้เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมากรอก ข้อมูลสมาชิกและพาสเวิร์ด ของเราเพื่อเข้าใช้งานอีกเลย

Cookies มีกี่ประเภท ? แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร ?

จริงๆแล้ว Cookies มีหลายประเภทและแบ่งได้ในหลายๆมุมมองครับ แต่ในฐานะนักการตลาดผมจะขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ First-Party Cookies และ Third-Party Cookies ครับ

1st-party-vs-3rd-party-cookies
Source : https://www.customerlabs.com/blog/first-party-data-vs-second-party-data-vs-third-party-data/

.

First-Party Cookies คืออะไร?

แต่ก่อนที่เราจะไปถึง First-Party Cookies ผมอยากให้ทุกท่านรู้จักกับ First-Party Data ก่อนครับให้เข้าใจง่ายๆมันก็คือ ข้อมูลแบรนด์หรือองค์กรเก็บเองไม่ว่าจะเป็น ออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ ครับเช่น ข้อมูลจากสมาชิกจาก CRM , ข้อมูลยอดขายจากเครื่อง POS , Feedback ของผู้บริโภคที่เราได้รับจาก Survey หรือ Cookies บน Website ของเราเอง หรือที่เรียกว่า First-Party Cookies นั่นเองครับ 

ซึ่งข้อดีของ First-Party Data เนี่ยก็คือ มันเป็นข้อมูลที่เราเป็นเจ้าของจริงๆครับ เป็น Know How ของตัวแบรนด์ของตัวบริษัทเอง และ ถ้าเราสามารถเก็บมันได้อย่างมีระบบระเบียบเราก็จะสามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างงายดายและอิสระมากๆอีกด้วยครับ เช่น เราอาจจะเอาข้อมูลยอดขายที่เคยเกิดขึ้นไปผสมกับข้อมูลสมาชิกเพื่อทำ RFM Analysis เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลออกมาว่า ใครเป็นลูกค้าประจำเจ้าใหญ่ที่เราควรจะรักษาไว้ หรือ ใครเป็นลูกค้าขาจรที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นลูกค้าที่มีประสิทธิภาพของเราได้ หรือ เราอาจจะผนวกวพฤติกรรมของคนที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเราเพื่อคาดเดาว่า คนที่มีพฤติกรรมอ่านบทความบนเว็บเราเป็นเวลานานๆและซื้อของบนเว็บไซต์ของเกิน 5,000 บาทขึ้นไปจะกลายเป็น สุดยอดแห่งลูกค้าประจำผู้ที่ทุ่มเงินอย่างหนักให้กับแบรนด์ของเราอย่างแน่นอน เราในฐานะแบรนด์ก็เลยออกโปรโมชันเฉพาะลูกค้าคนนี้เพื่อทำให้กระตุ้นให้เขาตัดสินใจซื้อซ้ำและรักแบรนด์ของเรามากขึ้น 

ดูเจ๋งใช่ไหมละครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกของเรา ณ เวลานี้ก็คือ หลายๆแบรนด์หรือหลายๆองค์กรยังเลือกหายใจด้วย Third-Party Data หรือ Third-Party Cookies อยู่นั่นเอง หรือ ถ้าในองค์กรไหนที่เริ่มจะตัดสินใจเก็บ First-Party Data ของตัวเองก็จะค้นพบว่า มันไม่ง่ายเอาซะเลย และ มากกว่านั้นในเรื่องของความยินยอมที่ User จะยินยอมให้แบรนด์เก็บข้อมูลนั้นค่อนข้างจะต่ำมาก โดยที่ Gartner ได้มีรายงานว่า ปัจจุบันอัตราการยินยอมให้เก็บข้อมูลของ User อยู่ที่ 15% เท่านั้น

แล้ว Third-Party Cookies ล่ะ คืออะไร?

ง่ายๆเลยครับมันก็คือ Cookies ที่ไม่ใช่ First-Party Data เป็น Cookies ที่แบรนด์ไม่ได้เป็นเจ้าของ และ กระบวนการในการเอา Cookies เหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้งานไม่ได้เกิดขึ้นโดยแบรนด์แต่มักจะเกิดขึ้นโดยแพลตฟอร์มที่แบรนด์เหล่านั้นไปใช้งานอีกที เช่น Facebook Ads นั่นเองครับ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ สำหรับท่านที่เคยผ่านการใช้ โฆษณาบนเว็บผ่าน Facebook Ads มาบ้างอาจจะเคยได้ยินคำว่า Pixel สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยิน มันคือการนำ Code ชุดนึงเพื่อเอาไปติดบนเว็บไซต์ และ ทำให้เว็บไซต์ของเราสามารถสื่อสารกับ Facebook ได้ครับ ซึ่งเวลาที่มี เว็บไซต์ต่างๆนำ Pixel เหล่านี้ไปติดทาง Facebook ก็จะสามารถเก็บข้อมูลและพฤติกรรมของ User ที่เข้าเว็บไซต์เรา (แบบที่ User ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าโดนเก็บข้อมูลไปแล้ว) เพื่อนำไปประมวลผลแบ่ง Segment แยกประเภทความสนใจต่างๆ และ เอาไปผสมกับพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นบน Platform บน Facebook จนทำให้กลายมาเป็นลักษณะความสนใจ , ข้อมูลประชากร หรือ ลักษณะต่างๆ มาเป็นตัวเลือกให้เราเลือกใช้ Facebook Ads ได้ว่าจะโฆษณาหาใคร หรือ ว่าในมุมมองของการวิเคราะห์ข้อมูลก็เหมือนกันครับ คือการที่เราติด Pixel และใช้ Third-Party Cookies เนี่ยมันก็ทำให้เราสามารถดูผ่านระบบของ Facebook ได้ว่าคนที่เข้าเว็บเรามี Demographic หรือ ลักษณะ เป็นอย่างไร โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นจะต้องหาวิธีเก็บข้อมูลเองเลย (เช่นเดียวกับ Google Analytics หรือ Google Ads และ Ads & Analytics Tools อื่นๆ ก็ใช้หลักการประมาณนี้เหมือนกันครับ)

ดูเจ๋งแม่นยำ สะดวกสบาย ใช้งานง่าย และ ใช่ครับมันกำลังจะหายไป (จริงๆไม่ได้หายไปขนาดนั้นหรอกครับ แค่ขู่ให้กลัวเฉยๆ)

อนาคตของ Cookies จะเป็นอย่างไร ?

ในยุคที่ Privacy กลายมาเป็นประเด็นหลักที่ User ตระหนักเป็นอย่างมาก ทำให้หลายๆองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มขยับตัว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฏหมายเกี่ยวกับ การอนุญาตให้เก็บข้อมูลผู้บริโภค และ การนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้ อย่างเช่น GDPR , CPRA , DCIA หรือ PDPA ที่ในประเทศไทยเราเริ่มบังคับใช้กันไปในวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมานั่นเองครับ

หรือถ้าไม่ใช่มุมมองของการออกกฏหมาย เหตุการณ์ที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างใหญ่โตมากและกระทบกับ ผู้ใช้งานโฆษณาหลายๆท่านรวมถึงตัวแพลตฟอร์มอย่าง Facebook เองมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การอัพเดท IOS14.5 ของ Apple ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ส App Tracking Transparency ซึ่งเป็นฟีเจอร์สที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะยอมให้ Application เก็บหรือไม่เก็บข้อมูลการใช้งาน ตามความต้องการของผู้ใช้ได้เลย ซึ่งแน่นอนตามที่ผมได้บอกไปมี User เพียง 15% เท่านั้นที่ยอมให้เก็บข้อมูล

และอีก 1 ปัจจัยที่กระทบกับ Third-Party Cookies เต็มๆนั่นก็คือ Google End of Cookies หรือ การที่ Google ประกาศว่าจะเลิกใช้งาน Third-Party Cookies บน Chrome Browser ซึ่งเป็น Browser ที่มีคนใช้งานมากเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือ เป็นตัวเลขประมาณ 67% ของตลาด จากเหตุการณ์นี้ระบบก็จะเพิ่มความโปร่งใสในการทำ Personalized Marketing ซึ่งจะทำให้ User สามารถเลือกได้ว่าจะอนุญาตให้เก็บไม่เก็บหรือจะให้ใครเก็บข้อมูล ได้และยังมีข้อจำกัดอย่างอื่นที่กระทบฝั่งของผู้ให้บริการโฆษณาเพิ่มเติมอีกในหลากหลายประเด็นเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่า Google End of Cookies ได้มีการเลื่อนระยะเวลาที่จะบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2024 แต่แน่นอนว่าสักวันนึงเหตุการณ์นี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลียงไม่ได้แน่นอน

โดยถ้าให้สรุปผลกระทบแบบง่ายๆจากหลากหลายเหตุการณ์ที่ผมกล่าวไปก็คือ User มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการที่จะเลือกให้เก็บหรือไม่เก็บข้อมูล ซึ่งจากตัวเลขก็เห็นอย่างชัดเจนว่า User ส่วนใหญ่ยังไม่ยอมให้เก็บข้อมูล ซึ่งก็จะทำให้ แพลตฟอร์มต่างๆให้บริการด้านการโฆษณา จะไม่ได้มีข้อมูลให้เราเลือกใช้ได้มากเท่าเดิมและข้อมูลเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะแม่นยำน้อยลงอีกด้วย ซึ่งเช่นเดียวกับมุมมองของการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะทำให้แบรนด์ที่เพิ่งพาแต่ Analytics Tools ที่ทำงานผ่าน Third-Party Cookies เป็นหลัก อาจจะไม่สามารถเห็นข้อมูลได้มากและแม่นยำเท่าเดิมทำให้แบรนด์ไม่รู้จักลูกค้าตัวเองมากขึ้นไปอีก​​

5 เทคนิค เติบโตท่ามกลางวิกฤต Cookieless

1.เริ่มต้นด้วย First-Party Data 

มันชัดเจนอย่างมากอยู่แล้ว Third-Party Data กำลังจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง หรือ อย่างแย่ที่สุดอาจไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม ดังนั้นในฐานะแบรนด์ก็ควรจะเริ่มเก็บ First-Party Data ให้มากขึ้น อาจจะเริ่มต้นง่ายๆด้วยการเริ่ม เริ่มสร้างฐานข้อมูลสมาชิกเป็นของตัวเอง หรือ นำข้อมูลที่เคยเก็บไว้อย่าง ข้อมูลระบบสมาชิกมาใช้ประโยชน์ ซึ่งระดับของการทำ First-Party Data ก็มีความซับซ้อนหรือความยากในการใช้งานอยู่หลายระดับตั้งแต่การเก็บข้อมูลง่ายๆจนผ่าน Google Sheet หรือ Excel จนถึงการสร้างระบบ CDP เชื่อมโยงข้อมูลและระบุตัวตนลูกค้าผ่านปัจจัยต่างๆ ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามความถนัด และ ขนาดขององค์กรเลย

2.สร้าง Data Acquiring Strategy

ต่อจากข้อที่ 1 คำถามที่สำคัญก็คือเราจะเก็บข้อมูลจากลูกค้าได้อย่างไร สิ่งที่ผมแนะนำก็คือการเริ่มสร้าง Data Acquiring Strategy หรือ การสร้างกลยุทธ์ในการเก็บข้อมูลจากลูกค้าครับ ยกตัวอย่างอย่างง่ายที่สุด คือการให้สิ่งของบางอย่างแก่ผู้บริโภคเพื่อจะขอแลกข้อมูลบางอย่างกลับมา เช่น ในทายใบเสร็จของ ร้านอาหารหลายๆเจ้าจะมีฟอร์มแบบสอบถามให้ผู้บริโภคเลือกทำเพื่อแลกกับอาหารเล็กๆน้อยๆ ในส่วนนี้แบรนด์ก็จะได้ข้อมูลพฤติกรรม ส่วนผู้บริโภคก็ได้อาหารไปทานนับว่า Win-Win กันทั้งคู่ หรือ ถ้าใครเคยเข้าไปในหลายๆเว็บไซต์แล้วมีฟอร์มเด้งขึ้นมาว่าให้กรอกอีเมลล์ของคุณเพื่อรับข่าวสารต่างๆ ก็เป็นหลักการเดียวกันในการทำ Data Acquiring Strategy ตัวแบรนด์ก็ได้รายชื่ออีเมลล์ของกลุ่มที่น่าจะเป็นลูกค้าเพื่อนำมาทำการตลาดในอนาคต ลูกค้าก็จะได้ข่าวสารจากแบรนด์ที่ตัวเองต้องการไป

แต่ส่วนนึงที่สำคัญมากๆก็คือผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจจะให้ข้อมูลกับใครง่ายๆถ้าสิ่งที่ตัวเขาได้รับนั้นไม่มีคุณค่ามากพอ หรือ ถ้าตัดสินใจให้ข้อมูลไปแล้วในอนาคตก็มีโอกาสยกเลิกได้เช่นกัน อย่างเช่น นาย A ไปสมัครรับข่าวสารของเว็บไซต์ที่เขาสนใจเว็บไซต์นึง แต่ข่าวสารที่เขาคาดว่าจะได้รับดันกลายเป็น อีเมลล์โฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทเสมอๆ ดังนั้นนาย A ก็มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการรับข่าวสาร และ ทำให้บริษัทขาดช่องทางการติดต่อและข้อมูลของว่าที่ลูกค้าไปอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นในการทำ Data Acquiring Strategy สิ่งที่สำคัญก็คือการมองหา “คุณค่า” ที่คนที่คุณต้องการจะขอข้อมูลอยากได้จริงๆ เพราะเช่นนั้นนอกจากคุณไม่ได้ข้อมูลที่คุณต้องการแล้ว คุณอาจจะโดนเกลียด หรือ รำคาญอีกด้วย (อยากเช่นเวลาไปเดินห้างแล้วมีคนพยายามมาขายคอร์สความสวยความงามมากเกินไป) และ มากกว่านั้นคือคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ของอะไรไปเลย แค่ขอความช่วยเหลือที่จะพัฒนาสินค้าและบริการของคุณ ผู้บริโภคก็อาจจะยินดีช่วยเหลือคุณแล้ว (จากแบบสอบถามในรายงานของ Cookieless World มีผู้บริโภคมากถึง 44% ที่ยินยอมจะให้ข้อมูลกับบริษัทต่างๆเพียงเพื่อจะช่วยพัฒนาสินค้าและบริการ)

3.เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค

หลายๆท่านที่เคยใช้ Facebook Ads เป็นหลักและไม่ทำการตลาดช่องทางอื่นเลยตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คุณจะมองหากระบวนท่าใหม่ๆในการเข้าถึงผู้บริโภค เพราะจะเห็นเลยว่าผลกระทบเรื่องความแม่นยำของโฆษณารุนแรงและชัดเจนมากๆจากเหตุการณ์อัพเดท IOS 14.5 ของ Apple ดังนั้นถ้าเรายังจะหายใจด้วยช่องทางเดิมๆต่อไปอาจจะไม่ดีแน่

ถ้าจะให้ผมแนะนำช่องทางอื่นๆในการโฆณาสิ่งที่ผมอยากจะแนะนำแต่คุณอาจไม่เชื่อว่ามันดีก็คือ SMS Marketing ครับ เพราะจากตัวเลขมีผู้บริโภคถึง 91% ที่ยินดีจะให้บริษัทส่ง SMS หาพวกเขา และ ราวๆ 96% ของนักการตลาดบอกว่ายอดขายของเขามากขึ้นหลังจากการใช้ SMS Marketing

4.ทำความรู้จักกับผู้บริโภคของตัวเองให้มากขึ้นผ่านช่องทาง First-Party Data

เพราะ Cookieless World ไม่ได้กระทบในเชิงของการโฆษณาเพียงอย่างเดียวแต่ยังส่งผลกระทบในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำน้อยลงอีกด้วย ดังนั้นการเลือกนำข้อมูล First-Party Data มาวิเคราะห์เพิ่มเติมก็เป็นแนวความคิดที่ควรจะทำ เพราะการเข้าใจและรู้จักลักษณะของกลุ่มลูกค้าเดิมทำให้เราเห็นหน้าตาของกลุ่มลูกค้าใหม่เราชัดขึ้น

สิ่งนึงที่ในปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการโฆษณาหลายๆเจ้ายังไม่สามารถให้ได้ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการโฆษณาหลายๆคนต้องการเป็นอย่างมากก็คือการหา “กลุ่มลูกค้ารวยๆ” เพราะแทบทุกผู้ให้บริการโฆษณาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการเงินของลูกค้าได้เลย อย่างมากก็เลือกจากความสนใจแวดล้อมเช่น ลูกค้ารวยๆก็น่าจะสนใจ Rolex หรือน่าจะชอบขับรถ Mercedes Benz แต่ความแม่นยำก็ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับการนำข้อมูลยอดขายเดิมของลูกค้าเรามาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

และอีกแง่มุมของการรู้จักลูกค้าที่ควรจะให้ความสนใจอย่างมากคือการหาว่าจริงๆแล้วลูกค้าของเราพูดและคิดเห็นอะไรบ้างเกี่ยวกับแบรนด์ของเราในโลกออนไลน์ผ่านการใช้งาน Social Listening เพราะเมื่อเราเห็นข้อมูลเหล่านี้เรามักจะเจออินไซต์บางอย่างเพื่อนำไปพัฒนาเป็นโฆษณาหรือ Content ที่จะคุยกับผู้บริโภคต่อได้ยกตัวอย่างเช่นในเหตุการณ์ ปิดกิจการอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งดูจะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงในเชิงลบให้กับแบรนด์เป็นอย่างมาก แต่จากความเห็นของผู้บริโภค มีจำนวนมากกว่า 54% ที่แสดงความคิดเห็นในทิศทางกลางๆ ทั้งๆที่เราเชื่อว่าจากเหตุการณ์นี้ความคิดเห็นเชิงลบควรจะเป็น 90% จากความคิดเห็นทั้งหมดด้วยซ้ำ 

5.มองเกมให้ไกล เพราะทุกอย่างจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

ถึงแม้ทุกอย่างที่ผมกล่าวไปมันจะดูยาก และ ต้องมีความรู้ความเข้าใจหรืองบประมาณอย่างมากในการทำ แต่สิ่งนึงที่ผมอยากจะบอกก็คือ เกมนี้เป็นเกมยาวครับ ไม่ใช่ว่าเราจะเริ่มวันนี้ พรุ่งนี้เราจะทำสำเร็จ แต่ทุกๆกระบวนการที่เราจะทำกันเช่นเริ่มเก็บ First-Party Data หรือสร้าง Data Acquiring Strategy เป็นกระบวนการที่ถึงจะต้องลงทุนและใช้เวลากันแบบยาวนานแต่จะเป็นผลดีต่อแบรนด์และองค์กรของคุณอย่างยั่งยืนแน่นอน เพราะทุกๆผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นไม่เคยย้อนกลับไปเหมือนเดิมดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน IOS User ก็มีสิทธิในการเลือกที่จะให้หรือไม่ให้ข้อมูล และ ไม่มีทางเลยที่ Apple จะกลับไปบังคับให้ User ทุกคนให้ข้อมูลการใช้งานกับ Application

สรุป

ถึงแม้ว่าทุกอย่างที่ผมกล่าวไปดูจะเป็นผลกระทบด้านลบ ดูทำให้เราทำงานได้ยากขึ้น หรือ เก็บข้อมูลผู้บริโภคมาใช้งานได้ยากขึ้น แต่ความจริงแล้วมีโอกาสดีๆที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์นี้ เพราะถ้าผู้บริโภคจะให้ข้อมูลกับคุณ เขาจำเป็นจะต้องรักและชอบในตัวคุณมากๆ หรือ มีแนวโน้มจะกลายเป็นลูกค้าคุณจริงๆ เพราะคุณกำลังสื่อสารอย่างถูกต้องกับว่าที่ลูกค้าของคุณ ดังนั้นข้อมูลที่เราได้จากผู้บริโภคในยุคต่อไปนี้ แทบจะเป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการกรองและคั้นอย่างละเอียดจนมีคุณภาพจริงๆถึงจะถึงมือเรา ต่างจากยุคก่อนหน้าที่ข้อมูลที่เราได้รับมานั้น เน้นไปที่จำนวนแต่อาจขาดการกรองที่มีคุณภาพมากพอทำให้ข้อมูลที่เรานำไปใช้กลายเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงไปเสียอย่างนั้น เพราะจริงๆแล้วผู้บริโภคคนไหนไม่ได้ไม่อยากเห็นโฆษณา แต่เขาเหล่านั้นอยากเห็นโฆษณาที่มันถูกจริตกับเขามากที่สุดตังหาก 

และถึงแม้การเริ่มสร้าง First-Party Data จะดูเป็นเรื่องยาก ใช้เงินและเวลาอย่างมาก แต่การเริ่มแบ่งเงินบางส่วนมาปลูกต้นไม้ในสวนของคุณเอง ก็คงจะดีกว่าการใช้เงินทั้งหมดไปกับการปลูกต้นไม้ในสวนที่คุณเช่ามาใช่ไหมละครับ และเราก็ไม่รู้จริงๆว่าวันไหนที่เจ้าของสวนที่คุณเช่าอยู่จะเวนคืนที่ดินที่ทำมาหากินของคุณแล้วเอาไปสร้างคอนโดของเขาแทน เพราะวันนึง เราอาจจะไม่มี Facebook ให้โฆษณาก็ได้