เทรนด์ TikTok มาแรง แต่เราต้องทำตาม TikTok ทั้งหมดจริงหรือ?
ชวนสำรวจมุมมองผู้บริโภคชาวไทยผ่าน Social Listening ว่ามีมุมมองความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร
สวัสดีทุกคน สำหรับเพื่อน ๆ ที่ติดตามข่าวสารในแวดวง Social Media ต่าง ๆ คงได้ยินเรื่องเหล่านี้มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ Facebook ได้เสียฐานผู้ใช้งานรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก, Facebook หลุดจาก อันดับ Top 10 ใน App Store สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงรายได้ที่ลดลงมากที่สุดในประวัติกาล หรืออย่างในส่วนของ IG เอง ที่มีทั้งผู้ใช้งานคนดังและคนทั่วไปก็ออกแคมเปญรณรงค์ “MAKE INSTAGRAM INSTAGRAM AGAIN” เรียกร้องให้ IG กลับมาเป็น IG อีกครั้ง หยุดพยายามจะเป็น TikTok ซักที เป็นต้น
ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เป็นผลจากการที่มีแอปฯ น้องใหม่มาแรงอย่าง TikTok ที่เข้ามาดึงฐานผู้ใช้งานไป ทำให้ Social Media ยักษ์ใหญ่ต้องทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการออกฟีเจอร์ใหม่อย่าง Reels และ YouTube Shorts เพื่อรองรับในส่วนวิดีโอสั้น หรือส่วน Meta เอง ก็ดูเหมือนว่าจะมีการปรับเปลี่ยน Algorithm ใน Facebook และ Instagram ให้คล้าย TikTok ทำให้ผู้ใช้งานได้เห็นคอนเทนต์จาก Creator ต่าง ๆ แม้จะติดตามหรือไม่ก็ตาม
วันนี้เราเลยอยากมาชวนคุยกันเล่น ๆ ในประเด็นที่ว่า ในเมื่อ TikTok ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามด้วยวิดีโอสั้น และ Algorithm สุดเจ๋ง ทำให้มีผู้ใช้งานเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วทำไม Facebook และ Instagram ที่พยาพยามปรับตัวตาม กลับได้รับผลลัพธ์ตรงกันข้าม โดยวันนี้เราจะมาแชร์มุมมองทั้งจากสื่อต่างประเทศ รวมถึงมุมมองจากผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งวันนี้เราใช้ Social Listening Tools สำรวจความคิดเห็นชาวเน็ตในไทยมาเล่าให้ฟังกันด้วย เพื่อเป็นมุมมองแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
เริ่มจากฝั่งสื่อก่อน สำหรับประเด็นนี้หลาย ๆ สื่อจากต่างประเทศได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุหนึ่งเพราะว่าจุดแข็งของ Facebook และ Instagram คือการเป็น Social Network แต่ TikTok คือ Social Media ที่ทำหน้าที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคแตกต่างกันอย่างชัดเจน
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ Social Network คือ การเชื่อมต่อ พูดคุยและติดต่อเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก ศิลปิน หรือ Community ที่เขาชื่นชอบเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นที่คนใช้ Facebook และ Instagram ย่อมหมายถึงเขาอยากอัพเดทและติดตามเฉพาะกลุ่มคนหรือเครือข่ายที่เขาสนใจ เพราะ Platform ช่วย “เชื่อม” ความสัมพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน
ในขณะที่ TikTok กลับแตกต่างออกไป เพราะเสน่ห์ของ TikTok คือวิดีโอสั้นมีเสียง ที่มีทั้งความสนุกสนาน แรงบันดาลใจ Challenge ต่าง ๆ ที่ไม่จำกัดว่าจะต้องมาจากคนรู้จักเท่านั้น หรือเรียกได้ว่าออกแบบมาเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ รวมถึงมีความง่ายในการใช้งาน เพราะผู้ใช้สามารถทำทุกอย่างสามารถจบในแอปฯได้ ไม่ว่าจะเป็นอัดวิดีโอ พากย์เสียง ใส่เพลง และดาวน์โหลดหรือแชร์ไปยัง Social Media อื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย และด้วย Algorithm ที่เก่งกาจก็ช่วยทำให้ดึงดูดผู้ใช้ให้อยู่ได้นานขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาฟีเจอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ครบมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของตัวเองที่เป็นความบันเทิงได้อย่างดี
ทีนี้เรามาลองดูมุมมองคนไทยกันบ้างว่า พวกเขามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เราได้ใช้ Social Listening เข้าไปดูสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคออนไลน์ย้อนหลัง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบ Insight ว่า User เริ่มมีเสียงบ่นบนโลกออนไลน์ ก่อนที่ Facebook จะออกมาประกาศเรื่องเดินหน้าปรับเปลี่ยนเต็มที่ซะอีก ซึ่งแค่นับเฉพาะตัวอย่างที่เราเจอก็มีส่วนร่วมมากกว่า 70,000 Engagement แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว มาลองมาดูตัวอย่างมุมมองบางส่วนกันว่าพวกเขามีความคิดเห็นกันอย่างไร
“Facebook เลิกสนุกไปตั้งนานแล้วสำหรับเรา เพราะ algorithm งง ๆ ที่ทำให้คนเห็นแต่ใน bubble ตัวเอง & ความหลากหลายหายไป”
“เมื่อไหร่ IG จะเลิกเอาคนที่เราไม่ได้ฟอลมาขึ้นหน้าฟีดสักที อยากเห็นเฉพาะคนที่ฟอลอ่ะ – -“”
“IG เลิกแนะนำ suggested post มาใน Timeline เถอะ ถ้าอยากดูสิ่งอื่นที่สนใจจะไปดูที่ Search”
หรือ
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มุมมองคนไทยกับต่างประเทศค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยส่วนใหญ่มองว่าเสน่ห์หรือความสนุกของ Facebook และ IG หายไป เพราะพยายามจะปรับให้คล้ายตาม TikTok ส่งข้อมูลจากผู้คนมากมายที่พวกเขาไม่ได้สนใจ และอีก Insight ที่น่าสนใจคือ คนเบื่อ Facebook เพราะโฆษณาที่เยอะเกินไป ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากเข้ามาใช้งานนั่นเอง
ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะเมื่อพวกเขาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram สิ่งที่เขาอยากเห็นคือ เรื่องราวของเพื่อน ๆ และคนรอบตัวของพวกเขานั่นเอง ซึ่งยังเป็นจุดแข็งของ Facebook ที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มากนัก เพราะถ้าหากพวกเขาอยากดูคอนเทนต์แบบ TikTok เขาก็เข้าไปเล่น TikTok เองได้ หรือถ้าอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม เขาก็สามารถค้นหาข้อมูลเองได้
อยากให้เป็นพื้นที่สำหรับการ เชื่อมความสัมพันธ์แบบเดิม หรือ social network ที่ลดโฆษณาลงมากกว่า
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนอะไร?
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จุดแข็งของแบรนด์เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ หากแบรนด์วิ่งตามกระแสและพยายามปรับเปลี่ยนตามคู่แข่ง จนลืมจุดแข็งที่เป็นจุดขายของตัวเอง นอกจากจะไม่ได้ใจกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้วก็อาจจะต้องสูญเสียกลุ่มลูกค้าเดิมไปอย่างถาวร ดังนั้นเราจึงควรมีการสำรวจและวิเคราะห์ความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาและเข้าไปพัฒนาตรงจุด และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นคำตอบที่ว่า แม้ TikTok จะเป็น Platform มาแรงขนาดไหน คนชื่นชอบมากเท่าไหร่ แต่การปรับตามทั้งหมดอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก ซึ่งเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทาง Meta จะแก้โจทย์ครั้งนี้อย่างไร จะสามารถดึงฐานผู้ใช้กลับมาได้หรือไม่ ในวันที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปหาทางเลือกใหม่ รวมถึงนักการตลาดเองก็คงต้องจับตาเฝ้าระวังทิศทางในการเปลี่ยนแปลง Social Media / Social Network เพื่อสามารถเลือกใช้ช่องทางสื่อสารให้ผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
Sources :
businessinsider, euronews, stuff.co.nz, dailymail, euronews 2, reuters, washingtonpost