Skip links

หมดยุคการตลาดแบบฉาบฉวย แบรนด์ต้องใส่ใจสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ใจคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

การตลาดฉาบฉวย

เผลอแป๊บเดียว ตอนนี้ก็เข้าสู่ปลายเดือนสิงหาคมกันแล้ว อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงสิ้นปี เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเรื่องราวและกระแสต่าง ๆ ใน Social Media ที่มาเร็วไปเร็ว ซึ่งหากแบรนด์จับทิศทางตามไม่ทันก็อาจจะตกเทรนด์ และเข้าไม่ถึงผู้บริโภคได้เช่นกัน วันนี้เราเลยมีเคสที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเทรนด์การตลาดใน Social Media จะช่วยให้ผู้บริโภคเพื่อให้ได้ใจผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างแท้จริงมาเล่าให้ฟัง เผื่อเป็นไอเดียให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในการทำการตลาดให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง

ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Social Media เป็นช่องทางที่แบรนด์ส่วนใหญ่ต่างใช้เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ และแน่นอนว่าเมื่อลงทุนทำคอนเทนต์ทั้งที แบรนด์ก็ย่อมอยากให้คอนเทนต์เข้าถึงคนจำนวนมาก เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องการให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักและอยากซื้อสินค้าหรือบริการที่เรานำเสนอจนกลายเป็น Brand Loyalty ในที่สุด

ดังนั้น นอกจากการโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์โดยทั่วไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าแบรนด์ต่าง ๆ มักจะใช้วิธีโพสต์ตามกระแสที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาล เช่น วันปีใหม่, วันเด็ก, วันวาเลนไทน์, วันผู้สูงอายุ, เดือน Pride month ฯลฯ ตลอดไปจนถึงเรื่องระดับโลกอย่างสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน เพราะอยากให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในสายตาและเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนา ของกลุ่มเป้าหมาย ณ ช่วงเวลานั้น ๆ นั่นเอง 

จาก Search Trend  เราจะเห็นได้ ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เทรนด์เกี่ยวกับ Social Movement ต่าง ๆ ได้รับความสนใจที่สูงมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ในโรงเรียน, Beauty Standard, ความเท่าเทียมทางเพศ,  LGBTQ+ และหลาย ๆ แบรนด์ก็มีการโพสต์เกี่ยวข้องกับประเด็น ต่าง ๆ เช่นกัน

คำถามคือ แค่โพสต์ตามเทรนด์ก็เพียงพอที่จะได้ใจผู้บริโภคแล้วจริงหรือ?

Google Trend
เทรนด์การตลาด

คำตอบคือ อาจจะเพียงพอ สำหรับเมื่อหลายปีก่อนที่แบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการสื่อสารอะไรมากนักเกี่ยวกับ Social Movement ทำให้ยังไม่มีข้อเปรียบเทียบ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จากการติดตามข้อมูลบน Social Listening ในหลายอุตสาหกรรม เราพบ Insight ที่น่าสนใจว่าการโพสต์ตามเทรนด์อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป แต่คนสนใจว่าแบรนด์ได้ลงมือทำอะไรบ้างเพื่อสนับสนุนเทรนด์หรือความสนใจของพวกเขาอย่างจริงใจและเข้าใจ รวมถึงเริ่มมีหลาย ๆ แบรนด์ในหลายอุตสาหกรรมเริ่มลงมือสนับสนุนและออกสื่อสารเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น 

#Pridemonth ของแสนสิริ ได้รับ Engagement สูงถึง 70,000 Engagement ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากการที่แบรนด์ออกสนับสนุนเรื่องการปล่อยกู้ให้คู่รัก LGBTQ+ ซึ่งถือว่ามาช่วยแก้ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงให้สวัสดิการกับกลุ่มพนักงาน LGBTQ+ ในด้านอื่น ๆ เพื่อแสดงจุดยืนการสนับสนุนความเท่าเทียมอีกด้วย และการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แบรนด์ได้ดำเนินการและสื่อสารในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่  แล้ว ส่วนนี้เองทำให้เกิดความคิดเห็นเชิงบวกกับแบรนด์ เช่น 

“อยากซื้อคอนโดแสนสิริ เพราะชอบแนวคิดและทัศนคติของผู้บริหาร”

“#สมรสเท่าเทียม  ชอบในความทันยุคทันสมัยของแสนสิริ”

แน่นอนว่าคำพูดเหล่านี้จะไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะซื้อบ้านแสนสิริแน่นอน แต่อย่างน้อยมันก็ส่งผล Positive Feedback กลับมาที่แบรนด์ได้จริง แปลว่ามีความเป็นไปได้ที่เขาจะมีแบรนด์อยู่ในใจตอนที่จะเลือกซื้อบ้านนั่นเอง 

ตัวอย่างที่ 2 แคมเปญ #Lethergrow ของ Dove เรียกร้องให้โรงเรียนเลิกลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม 

แน่นอนว่าแคมเปญนี้มี Key Message ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแบรนด์โดยตรงที่ว่า “เราเชื่อว่าความสวยงาม คือ แหล่งกำเนิดของความมั่นใจ ไม่ใช่ปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวล” และเป็นการช่วยเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยมีการกดไลก์ แชร์ แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้ถึง 183,000 Engagement ภายใน 2 เดือน คนที่แชร์ก็มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เพราะพวกเขาต่างเคยประสบปัญหาเดียวกันและต้องการให้กฎนี้หายไป ส่วนใหญ่ออกมาขอบคุณแบรนด์ที่ออกมาช่วยเรียกร้องให้พวกเขานั่นเอง ที่น่าสนใจคือโดฟมีแคมเปญลักษณะเดียวกันนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง 

อีกปัจจัยที่ Engagement เกิดขึ้นสูง ก็น่าจะเป็นเพราะเรื่องราวต่าง ๆ สามารถเป็นประเด็นที่นำไปพูดคุยต่อยอดกันได้ แปลว่ามันช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมกับแคมเปญมากกว่าแค่รับสาร แต่ได้ช่วยแชร์และส่งต่อความคิดเห็นลงมาด้วย ทำให้เกิด Impact ต่อเนื่องนั่นเอง

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนอะไร?

ผู้บริโภครุ่นใหม่เลือกแบรนด์ที่มีคุณค่าและทัศนคติที่ตรงกับพวกเขา ซึ่งแบรนด์จะต้องมีความจริงใจในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และมี Action ที่สะท้อนออกมาถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่โพสต์ฉาบฉวยตามกระแสเพียงสั้น ๆ อีกต่อไป ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่ได้คาดหวังว่าแบรนด์จะต้องทำ Social Movement ในทุก ๆ ด้าน เพียงแต่แบรนด์เองควรหาจุดเชื่อมโยงระหว่างประเด็นที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เข้ากับ Vision หรือ Value ของแบรนด์ ซึ่งหากแบรนด์ใดยังไม่ทำก็ควรจะเริ่มสำรวจประเด็นต่าง ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่แบรนด์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้สังคมเราดีขึ้น และสื่อสารมันออกมาเพื่อให้ได้ใจผู้บริโภคนั่นเอง